อาการปวดเมื่อยตามตัวในผู้สูงอายุ
อาการปวดเมื่อยตามตัวในผู้สูงอายุ
ในผู้สูงอายุ อาการปวดเมื่อยตามตัวเป็นปัญหาที่พบบ่อย โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการปวดตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด หากสามารถระบุสาเหตุได้ก็จะช่วยให้สามารถเลือกวิธีบรรเทาอาการได้อย่างถูกต้อง
สาเหตุของอาการปวดเมื่อยตามตัวในผู้สูงอายุ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
เกิดจากการใช้กล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง หรือจากการอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งหรือนอนท่าเดิมนานๆ หรือไม่ออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการปวด
- ปวดจากการกดทับเส้นประสาท
อาจเกิดจากการทำกิจกรรมในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- ปวดจากเส้นเลือดตีบตัน
การยืนหรือเดินนานๆ โดยไม่ได้หยุดพักอาจทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดอาการปวด
- อาการเหน็บชา
มักเกิดจากการนอนทับแขนหรือนั่งขาพับเป็นเวลานาน ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้เต็มที่
- ปวดจากตะคริว
เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลัน มักพบในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือจากการใช้ยาบางประเภท
วิธีป้องกันการปวดเมื่อยตามตัว
- ออกกำลังกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกวัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดอาการปวด
- เลือกที่นอนและหมอนที่เหมาะสม
ใช้ที่นอนและหมอนที่รองรับสรีระ ช่วยปรับท่านอนให้เหมาะสม เพื่อลดอาการปวด
- เปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ
ไม่ควรนั่งหรือนอนในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ควรขยับร่างกายหรือเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ
- ควบคุมการเพิ่มน้ำหนัก
ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะภาวะอ้วนทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักและอาจเพิ่มอาการปวดเมื่อย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หนักเกินไป
ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากเกินไป ควรเลือกทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับร่างกาย
- เสริมวิตามินบี 1 และบี 12
วิตามินบี 1 และบี 12 ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อและปลายประสาท ช่วยลดอาการปวดเมื่อยและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถลดอาการปวดเมื่อยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น