6 เทคนิคการเลือกโต๊ะและเก้าอี้ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงวัย
"เลือกโต๊ะเก้าอี้อย่างไร เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้สูงวัย"
ชุดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย มีลักษณะสำคัญที่ควรใส่ใจ
วันนี้หมอมี 6 เทคนิคในการเลือกมาฝากกันนะครับ
1. ความสูงเหมาะสม
ขนาดความสูงของโต๊ะมีขนาดเหมาะสมโดยทั่วไปแล้ว ควรจะอยู่ที่ขนาดจากพื้นถึงผิวโต๊ะ ประมาณ 75-90 ซม. ที่ใช้งานโดยทั่วไปสามารถรองรับกับเก้าอี้ปกติหรือเก้าอี้รถเข็น เข้าสอดรับได้โดยสะดวก หากได้ลองใช้ก่อนซื้อได้ลองขนาดที่เหมาะสมด้วยจะดีมาก ๆ ครับ
โต๊ะต้องไม่เตี้ยจนติดหน้าตัก หรือสูงเกินไปจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้สะดวก ท่าที่ดีคือหลัง แนวตรงได้ ศอกวางบนโต๊ะได้สะดวกถนัด เอื้อมหยิบของในวงแขนที่วาดไปอย่างสบาย เท้าติดพื้น ได้งอเข่ามุมฉากพอดี หากเท้าลอยจากพื้น อาจใช้แผ่นรองใต้เท้ามาเสริมได้ ความสูงที่เหมาะสมนี้ จะสามารถทำให้ผู้สูงวัยแม้ว่านั่งในเก้าอี้ประเภทต่าง ๆ ก็จะสามารถทำกิจกรรมได้นาน ไม่ปวดเมื่อยหลังนะครับ
2.ช่องว่างสำหรับสอดรับเก้าอี้
ความกว้างของช่องว่างใต้โต๊ะที่มีขนาดกว้างเพียงพอ สูงราว 75-90 ซม.และ กว้างราว 70 -90 ซม. ขึ้นไปเล็กน้อย ที่จะสามารถให้เก้าอี้ประเภทต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เข้า สามารถเข้าไปสอดได้อย่างเหมาะสม หากแน่น คับแคบเกินไปอาจจะบาดเจ็บต่อหัวเข่า เท้า และหน้าตักได้หรือ ถ้าหากกว้างเกินไปอาจจะทำให้ปวดหลัง ปวดเมื่อยแขน หัวไหล่ ได้เนื่องจากนั่งผิดท่าระหว่างทำกิจกรรมอยู่นาน
3.พื้นผิวสัมผัสบนโต๊ะเก้าอี้
ควรมองหาพื้นผิวสัมผัสที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิมากและเร็วจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นร้อนจัดหรือเย็นจัด การจัดให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยนั้น ผิวโต๊ะทำกิจกรรมอควรจะเป็นไม้หรือผิวสัมผัสเสมือนไม้ นอกเหนือจะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นแล้วผิวสัมผัสดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิเร็วนักมากจนอันตรายต่อผิวหนังของผู้สูงวัย มีความปลอดภัยมากขึ้น
4.วัสดุที่นำมาประกอบ
เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงนะครับ หมอว่าต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ผู้สูงวัยหรือครอบครัวจะเลือกหา เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เข้ามาในบ้าน มุมโต๊ะควรโค้งมน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ควรจะตรวจสอบความแข็งแรงก่อนที่จะให้ผู้สูงวัยนำมาใช้ ทั้งขาโต๊ะและเก้าอี้ ตรวจสอบพนักพิง รวมไปถึงพื้นรองนั่ง พื้นโต๊ะด้วย ว่าเสี่ยงหัก มีความเปราะบาง ดูรอยต่อว่าหลวมหรือไม่ ขาแข็งแรงหรือไม่ เพราะหากมีจุดเสี่ยงดังกล่าว อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เสี่ยงต่อกระดูกหักและบาดเจ็บที่ศีรษะ อันตรายมาก ๆ ครับ
5.เก้าอี้ควรมีลักษณะเป็นอาร์มแชร์
มีพนักเท้าแขนและพนักพิงหลังที่สูงจะเหมาะกับผู้สูงวัยที่มีปัญหากล้ามเนื้อและทรงตัว จะช่วยในการออกของตัวและการทรงตัวได้ดีขึ้นในขณะนั่ง รวมถึงเปลี่ยนแปลงอริยาบท จากนั่งเป็นลุกยืนได้ดีอีกด้วย เนื่องจาก ที่พักแขนจะสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวทำให้ผู้สูงวัยประคองตัวในระหว่างการเปลี่ยนแปลงท่าทางได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย ลักษณะเบาะไม่นิ่มยวบ เพราะจะทำให้หลังงอ เมื่อยหลังและคอ และความสูงของเบาะนั่งที่รองรับพอดี ลักษณะเข่าตั้งฉากและเท้าราบสัมผัสพื้นนะครับ
6.ขนาดของพื้นที่บนโต๊ะควรจะมีความกว้างเพียงพอ
อันนี้เพื่อเหมาะสมกับการทำกิจกรรมที่หลากหลาย อเนกประสงค์ ไม่ว่าผู้สูงวัยท่านนั้นจะรับประทานอาหาร ทำกิจกรรมบำบัด หรือใด ๆ ก็ตาม สามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวได้บ่อย ๆ มีความคุ้นเคย ที่สำคัญยังประหยัดงบได้ อีกด้วยนะครับ
หมอคิดว่าเทคนิคดังกล่าว ในการเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดโต๊ะและเก้าอี้นั้น มีความสำคัญ จะทำให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ มีความปลอดภัยและมีช่วงเวลาที่ดี "เกิดขึ้นง่าย เกิดขึ้นได้ที่บ้านเอง" ลองนำไปใช้ดูนะครับ
ด้วยรัก
นพ. เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ (หมอเก่ง) อายุรแพทย์
สอบถามโทรได้ทุกวัน 7.00-189.00 น.
โทร. 094-426-4439 / 02-056-1684-5
Line id : @cherseryhome
www.cherseryhome.com