กิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุ
กิจกรรมบำบัดคืออะไร?
กิจกรรมบำบัด คือ การนำเอากิจกรรมต่าง ๆ ที่มีจุดมุ่งหมาย กระบวนการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมเข้าไปช่วยในการบำบัดฟื้นฟู พัฒนา และลดการเสื่อมถอยของความสามารถและศักยภาพในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของบุคคลทุกช่วงวัย
กิจกรรมบำบัดมีบทบาทอย่างไรในผู้สูงอายุ?
กิจกรรมบำบัดจะเข้ามามีส่วนช่วยในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยการบำบัดฟื้นฟูผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถที่มี โดยทางกิจกรรมบำบัดจะมีบริการ ดังต่อไปนี้
การฝึกทักษะ และให้คำปรึกษาในผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การกลืนอาหาร การสวมใส่เสื้อผ้า การดูแลความสะอาดร่างกายตนเอง เป็นต้น
- การฝึกทักษะ และให้คำปรึกษาในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไขสันหลังบาดเจ็บ โรคภาวะเสื่อมถอย เป็นต้น
- การประเมิน และบำบัดในด้านความรู้ความเข้าใจ และความจำในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม การจัดการพฤติกรรมและอารมณ์
- การให้คำปรึกษาการวางแผนการจัดเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันให้เกิดความสมดุล เช่น การนอน การทำกิจกรรมระหว่างวัน รวมถึงการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล
- การให้คำปรึกษาการปรับสภาพบ้านให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้สูงอายุเมื่อต้องกลับไปอยู่บ้านหลังการบำบัดฟื้นฟู และการสงวนพลังงานในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุเพื่อลดภาวะกล้ามเนื้อล้า
รูปแบบการให้บริการจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ การให้บริการแบบเดี่ยว และการให้บริการแบบกลุ่มโดยนักกิจกรรมบำบัดและทีมงาน มาส่งเสริมฟื้นฟูทักษะความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีกับเรานะคะ