ทำยังไงพูดกับลูกทีทะเลาะกันที ทำอย่างไร พูดอย่างไร... ให้คนรุ่นใหม่เชื่อฟัง
" รวม 3 เทคนิคที่ผู้สูงวัย... ใช้ในการโน้มน้าวใจของคนรุ่นใหม่ " ...ให้เชื่อฟังและทำตามสิ่งที่ท่านสอน/แนะนำได้แบบง่ายๆ และใจเป็นสุข สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว หมอเชื่อว่าผู้สูงวัยหลายท่านคงจะมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดคุย แนะนำหรือให้ความเห็นในเรื่องต่างๆแก่คนที่มีวัยแตกต่างกัน หรือมาจากการเลี้ยงดูที่หลากหลายต่างๆกัน ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการที่จะสื่อสาร ทำความเข้าใจ รวมถึงมีปัญหาในการโน้มน้าวใจ ให้เขาเหล่านั้นได้ทำตามหรือปฎิบัติตาม หรือรับฟังความเห็นซึ่งกันและกันบ้าง
วันนี้หมอมีเทคนิคดีๆที่จะเป็นจุดเริ่มต้นโน้มน้าวใจ...
- ให้ผู้ฟังคิด
- มองเห็น
- คล้อยตาม ทำตาม ในสิ่งดีๆ ได้ไม่ยาก มาฝากผู้สูงวัยกันครับ...
1. ท่านจะต้องมองและเข้าใจในมุมของผู้ฟังเสมอ (มองจากมุมของเขา)
การที่เข้าใจบริบท ประสบการณ์และความคิดของผู้ฟัง รวมถึงการเข้าใจถึงพื้นเพเดิมทางด้านจิตใจ ความรู้สึก รวมไปถึงการเลี้ยงดูประสบการณ์ที่ทำให้ความความเข้าใจของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน เช่น ในการมองสถานการณ์ตามความเป็นจริง หลายครั้งผู้เห็นเหตุการณ์จะตัดสินแยกแยะได้ ไม่เหมือนกันเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับมาแต่อดีตที่หมอกล่าวมา เหมือนมองวัตถุเดียวกันที่แต่ละคน ต่างคน ต่างประสบการณ์ ย่อมมองสิ่งเดียวกันในแบบที่แตกต่างกันได้ หากผู้สูงวัยได้เข้าใจและได้คิดเผื่อ... ในมุมมองและประสบการณ์ที่ผู้ฟังอาจเคยประสบมา จะทำให้ท่านเข้าใจที่จะสื่อสารกับผู้ฟัง ในที่นี้อาจจะหมายถึงวัยรุ่น ลูกหลานที่อยู่ที่บ้าน ในการเลี้ยงดูของเขาเป็นอย่างไรมาก่อน ติดเทคโนโลยี...ติดเกมส์ไหม...
การเลี้ยงดูถูกตามใจมามากมายไหม...
หากท่านทราบการใช้เทคนิคที่จะโน้มน้าวใจ ก็จะทำให้ทำเลือกการพูดคุยได้เหมาะสมมากขึ้น ใช้ไม้อ่อนไม้แข็ง คำพูดหนักเบา รวมถึงจิตวิทยาในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนครับ ย่อมได้รับความร่วมมือจากผู้ฟังอย่างเต็มใจมากขึ้น โน้มน้าวเขาได้อย่างดีขึ้น เพราะเขาจะเชื่อว่าท่านได้เข้าใจและเห็นใจในสิ่งที่เขาเป็นและประสบมา
2. ท่านจะต้องเห็นอกเห็นใจเขาเสมอ
มนุษย์ทุกคนย่อมแสวงหาความเข้าอกเข้าใจกันอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้หมอคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิด ความไว้เนื้อเชื่อใจ !! และรู้สึก สัมผัสได้ถึงความรัก !! เมื่อมีแล้วอยากที่จะเปิดใจ พูดหรือรับฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขามากขึ้น ผู้ฟังรู้จะรู้สึกว่าคนที่สนทนาด้วย... ซึ่งหมายถึงผู้สูงวัยนั้น เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจในตัวเขา เมตตา และมีความปรารถนาดีอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เขาดีขึ้น รวมถึงไม่มีเจตนาร้ายใด...
หากเริ่มต้นด้วยสิ่งนี้แล้ว หมอเชื่อว่าผู้ฟังหรือผู้ที่ท่านกำลังจะให้คำชี้แนะหรืออบรม จะเปิดใจและนำเอาคำสอนของท่านไปรับไปปฏิบัติอย่างเต็มใจ และทำให้เป็นไปอย่างที่ท่านมุ่งหวังอย่างแน่นอน
3. ให้ท่านเริ่มไปทีละนิดๆ
มักจะเป็นการง่ายกว่าที่ท่านจะโน้มน้าวให้ใครสักคนทำอะไรบางอย่าง...
โดยการที่ท่านชักจูงให้เขาไปในทิศทางที่ดีที่ถูกต้องอย่างที่ท่านต้องการในรูปแบบที่ ...
ไปทีละนิดๆ ...
เพราะการที่ชักชวนเชิญชวนไปในทิศทางนั้น เริ่มต้นเพียงเล็กน้อย หมอให้คิดว่ามันคือเป็นจุดเปลี่ยนในการกระทำของผู้ที่กำลังรับฟังหรือปฏิบัติตาม ให้เป็นไปในทิศทางที่ท่านหวังไว้ เช่น ท่านต้องการจะเชิญชวนลูกหลานให้ไปไหว้พระทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรมตามโอกาสบ้าง แต่เดิมได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลร้อยแปดพันประการ
แต่ท่านให้เริ่มต้นที่อาจจะชักชวนใส่เงินในซองทำบุญ เริ่มต้นด้วยการหัดไหว้พระทำบุญฟังธรรมที่บ้าน ไปเรื่อยๆ ดังนี้ หมอเชื่อว่าไม่นานเขาเหล่านั้นก็จะซึมซับความอิ่มเอมใจในการทำบุญและมีโอกาสในการทำความดีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง อาจจะขอยกตัวอย่างในการเลือกรับประทานอาหาร ผู้สูงวัยโดยทั่วไปมักจะค่อนข้างใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกกินอาหารที่เน้นสุขภาพแต่ก็อยากจะโน้มน้าวใจให้คนในครอบครัวและลูกหลานให้ได้รับประทานอาหารที่ดีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
การที่เริ่มต้นทีละนิดทีละน้อยโดยการอาจจะทำกับข้าวหรืออาหารสุขภาพให้กินที่บ้านกิน เริ่มต้นแค่บางมื้อ แต่ท่านอาจจะพูดใส่ใจใส่รายละเอียดลงไป พูดถึงข้อดีพูดถึงประโยชน์ของการกินอาหารสุขภาพ ขยับจากหนึ่งมื้อ ขยับเป็นสองมื้อ สามมื้อทั้งวัน ขยายจากหนึ่งวันเป็นหลายวันต่อสัปดาห์ กลายเป็นทุกวันไป ซึ่งก็จะทำให้สมาชิกในบ้านเห็นประโยชน์และมีสุขภาพที่ดี ในการกินเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ได้อย่างไม่ยาก
หรือเหตุการณ์อื่นๆที่เป็นเรื่องดีๆที่ผู้สูงวัยอยากจะแนะนำบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดให้กระทำโน้มน้าวใจ ให้เขาเหล่านั้นได้ทำสิ่งดีๆ ที่ท่านได้คิดไว้ครับ
ลองเอา 3 เทคนิคที่หมอได้แนะนำวันนี้ลองไปปรับใช้ดูนะครับ หมอคิดว่าการเริ่มต้นใช้เทคนิคที่ถูกต้อง ในการโน้มน้าวใจให้สมาชิกคนในบ้าน คนที่ใกล้ชิดท่านได้ได้รับอิทธิพลดีๆ จากผู้สูงวัยที่มากด้วยประสบการณ์มากด้วยคุณค่าแล้ว หมอคิดว่าสังคมไทยของเราน่าจะมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ด้วยรัก
นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ( หมอเก่ง )
อายุรแพทย์
ภาพจาก : pixabay