การฟื้นฟูในระยะแรกหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลัง


การฟื้นฟูในระยะแรกหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

การฟื้นฟูในระยะแรกหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลัง

วันที่ 1-2 หลังผ่าตัด
• ฝึกการหายใจเข้าออกลึกๆ
ให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงที่ข้างเตียง หรือช่วยให้อยู่ในท่านอนศีรษะสูง (Semi-Fowler’s position) โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างจับที่ท้อง ให้สูดลมหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ลึกๆ จนรู้สึกว่าหน้าท้องขยายตัว/ท้องป่อง แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ เบาๆ จนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องหดตัว/ท้องแฟบ แนะนำให้ปฏิบัติบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้อย่างน้อย 5-10 ครั้ง ทุกชั่วโมง

• การไอหรือกระแอม
ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนศีรษะสูง (Semi-Fowler’s position) แนะนำให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก สลับกับค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ ทำซ้ำ 3 ครั้ง จากนั้นให้หายใจเข้าลึกเต็มที่ กลั้นหายใจไว้สักครู่ และไอออกมาอย่างแรงและเร็วทันที ตามด้วยการหายใจเข้าออกปกติ จะช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาการไอ และไอเอาเสมหะที่ตกค้างออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• การใช้สไปโรมิเตอร์ (Incentive spirometer)/Triflo
คือตัวช่วยบริหารปอดสำหรับลดภาวะแทรกซ้อนก่อนและหลังผ่าตัด เครื่องนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึกการหายใจเข้าลึกๆ
อย่างช้าๆ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจแข็งแรง และช่วยให้การทำงานของปอดเป็นปกติ
ขั้นตอนการใช้
1.ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรง ถือเครื่องมือไว้ระดับอก โดยให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้ว ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ประมาณ 2 - 3 ครั้ง
2.ค่อยๆ ดูด จนกระทั่งลูกบอลลอยขึ้น ดูดขึ้นค้างไว้ ประมาณ 3 - 5 วินาที (นับ 1 - 5) หรือเท่าที่ร่างกายจะสามารถทำได้ แล้วผ่อนลมหายใจออก ทำเช่นนี้ 10 - 20 ครั้ง วันละ 3 - 4 รอบ (พยายามให้ผู้ป่วยดูดให้ได้อย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้ดีขึ้น)
3. กรณีนั่งหลังตรงไม่ได้ ให้ดูดท่านอนได้ แต่ควรดูดขณะนอนอยู่ในท่าต่างๆ เช่น ท่านอนหงาย ท่าตะแคงซ้าย-ขวา เพื่อให้ปอดขยายได้ทุกทิศทาง

• การออกกำลังข้อเท้า
กระดกข้อเท้าขึ้นลง ทำเซตละ 5-10 ครั้ง เพื่อขยับข้อต่อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการเท้าบวมและป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้

วันที่ 2-3 หลังผ่าตัด สามารถเริ่มออกกำลังกายกล้ามเนื้อแขนและขาได้
• ออกกำลังกายแขน ยกแขนขึ้น-ลง กางแขน-หุบแขน หมุนแขนเข้า-หมุนแขนออก งอศอก-เหยียดศอก เซตละ 15-20 ครั้ง ทำ 2 เซต/วัน
• ออกกำลังกายมือ กระดกข้อมือขึ้น-ลง กำมือ-แบมือ เซตละ 15-20 ครั้ง ทำ 2 เซต/วัน
• ออกกำลังกายขา นอนราบเกร็งกล้ามเนื้อเข่า และกดเข่าลงบนที่นอนให้มากที่สุด 15-20 ครั้ง ทำ 2 เซต/วัน
• ออกกำลังกายข้อเท้า กระดกข้อเท้าขึ้น นับ 1-10 แล้วจึงถีบปลายเท้าลง ทำสลับกัน เซตละ 15-20 ครั้ง ทำ 2 เซต/วัน

วันที่ 4-7 หลังผ่าตัด สามารถเริ่มการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังได้
• นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง แขนแนบลำตัว เกร็งกล้ามเนื้อท้อง กดหลังกับพื้นเตียง เกร็งนาน 5 วินาที พัก และทำติดต่อกัน 10 ครั้ง
• นอนหงายชันเข่าทั้ง 2 ข้าง งอสะโพก และข้อเข่า แขนแนบลำตัว ยกศีรษะและลำตัวช่วงบน เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องค้างไว้ 5 วินาที ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง
• นอนหงายชันเข่าสองข้าง ใช้มือจับเข่างอ เข่าจรดอกทำแค่ที่ทนได้แล้วปล่อย สลับทำทีละข้าง ข้างละประมาณ 10 ครั้ง โดยการออกกำลังกายแต่ละท่านั้นขึ้นอยู่กับชนิด และวิธีการผ่าตัดด้วย ดังนั้น ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่าตัด แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัดก่อน

กิจกรรมที่ไม่ควรทำหลังผ่าตัด
• กิจกรรมที่ต้องก้มตัวสุดหรือแอ่นหลังสุดเป็นประจำ
• ก้มหลังยกของ ก้มหลังเก็บของให้ใช้วิธีย่อเข่าแทน
• ควรเว้นการยกของหนักมากเกินกำลัง
• ไม่ควรอยู่ในที่ซึ่งมีการสั่นสะเทือน
• ไม่นั่งนานๆ โดยเฉพาะในที่นั่งซึ่งอ่อนนุ่มจนทำให้หลังโค้งงอ หากงานที่ทำจำเป็นต้องนั่งตลอดทั้งวัน ควรหาโอกาสเดินเปลี่ยนอิริยาบถ ทุก 1 ชั่วโมง

กภ.พลอยชมพู เม็งสุวรรณ นักกายภาพบำบัด
โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home

Tel: 084 264 2646 / 084 264 2662
Line id: @cherseryhome
Facebook: cherseryhome
www.cherseryhome.com

บอก"รัก"ผู้สูงวัย เชื่อใจให้เราดูแล
All the best for your elder

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy