ใช้ยาอย่างไรผู้สูงวัยปลอดภัย...ไม่เสี่ยง !!!
เมื่ออายุมากขึ้นหลายคนย่อมที่จะประสบกับปัญหาสุขภาพร่างกายที่มีโรคประจำตัว ต้องพึ่งยาในการควบคุมรักษามากขึ้น หลายคนเบื่อ หลายคนกลัว หลายคนขยาดเรื่องการใช้ยา
แต่ในเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ หมอขอมาแนะนำวิธีและเทคนิคง่ายๆที่จะทำให้การใช้ยาที่เหมือนเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายและใช้ได้จริงมาฝากกัน
หมอขอสรุป 6 เทคนิคง่ายๆเพื่อการใช้ยาอย่างไม่ผิดพลาด ผู้สูงวัยหลายๆท่านมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยา บางท่านมีโรคประจำตัวหลายอย่าง จึงมียาหลายขนานที่ต้องใช้ ...
ที่หมอได้ใช้จริง มัน work !!!
ที่หมอได้ศึกษาและได้แปล ดัดแปลงมาจากคำแนะนำขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA)
6 ข้อมีดังนี้ครับ
1.รู้จักตัวยา
จำเป็นนะครับผู้สูงวัยที่ใช้ยาควรจะทราบว่าตนเองใช้ยา"ชื่อ"อะไร ขนาดยาเท่าไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งสี กลิ่น รส หากทำได้จะมีประโยชน์มาก เพราะหากท่านรู้สิ่งที่ปกติก่อน เป็นอย่างไร ใช้เพื่ออะไร หากเกิดความผิดปกติจะได้รู้และระวังในการใช้
2.รู้จักวิธีใช้ยา
วิธีการบริหารยา (กิน ฉีด พ่ย ทา หรือ วิธีใช้อย่างไร) รวมถึงการจัดเก็บยา รู้ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ หากท่านยังไม่รู้จักยาที่ใช้ดีพอ ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวนะครับที่จะถามแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้ท่านนะครับ จะได้เข้าใจตรงกันเพื่อความปลอดภัยไม่คลาดเคลื่อน
3.รู้ว่ายานั้นรักษาอาการอะไร มีผลอย่างไร
ในผู้สูงอายุบางท่านมีโรคหลายโรค จึงต้องรับประทานยาครั้งละหลายๆชนิด ซึ่งยาแต่ละชนิดจะใช้เพื่อรักษาอาการต่างๆกัน ท่านควรจะทราบว่ายาแต่ละตัวนั้นมีผลต่อร่างกายของท่านอย่างไร มีผลอย่างไรต่อกัน ที่พบได้บ่อยๆที่เรามักเอายาบางตัวมาใช้หวังผลอย่างหนึ่งแต่เกิดผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่ง เช่นยาเจริญอาหาร ที่ใช้แล้วหลายคนมีอาการบางแห้ง คอแห้ง มากขึ้นไปอีก ใช้บ่อยๆนานๆก็ไม่ดีต่อสุขภาพได้
4.อ่านสลาก ดูสภาพก่อนใช้ยา
เพื่อความถูกต้อง ทบทวนชื่อยาและวิธีการใช้ยา ดังนั้นก่อนการใช้ยาทุกครั้งต้องอ่านสลากยาเสมอ สังเกตลักษณะซอง ฉลากยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์ควรอยู่ในสภาพที่ดี ไม่แตก ฉีก ขาด บุบสลาย ไม่เปื่อยยุ่ย
5.แจ้งแพทย์ทุกครั้ง
เมื่อผู้สูงวัยต้องไปพบแพทย์หรือเภสัชกรควรแจ้งให้ทราบทุกครั้งถึงยาประจำที่ท่านรับประทานอยู่ แจ้งให้หมดนะครับ ทุกๆตัวยา รวมถึงวิตามินหรือยาบำรุงที่ท่านรับประทานอยู่ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการจ่ายยาที่ซ้ำซ้อน และตรวจสอบถึงปฏิกริยาของยาที่อาจเกิดได้หากรับร่วมกัน โดยเฉพาะรายที่รับประทานยาที่เสียงต่อการมีปฏิกิริยาซึ่งกันและกันเช่นยากลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดยาละลายลิ่มเลือด ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
6.จดรายชื่อยาที่ใช้ประจำ
ท่านอาจจดรายชื่อไว้ในกระเป๋าเงิน, จดไว้ในโทรศัพท์มือถือ ถ่ายรูปไว้ หรือที่ใดก็ได้ที่สามารถพกติดตัวได้ตลอดเวลา และ Copy เผื่อคนในครอบครัวและเพื่อนสนิทด้วย เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้นำรายชื่อนี้ให้กับแพทย์ที่รักษาทันได้ดูทันทีครับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทราบยาประจำตัวที่ใช้และสามารถจะดูแลให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างทันท่วงทีครับ
หมอว่าเทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคที่ดีนะครับ เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกท่านได้รับประโยชน์ที่ดีจากยาที่รับประทานและได้รับโทษจากยาน้อยที่สุดครับ
ด้วยรัก
นายแพทย์เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ
อายุรแพทย์
www.cherseryhome.com
0842642646
Line id @cherseryhome