ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งหมุดหมายที่ต่างชาติ "วัยเกษียณ" ต้องการเดินทางเข้ามาพำนักระยะยาว ขณะเดียวกัน ไทยยังมีเป้าหมายผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ Medical Hub ซึ่งจะส่งผลให้ไทยขยับจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวทั่วไป สู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่ามากขึ้น
โจทย์สำคัญ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะนวัตกรรม หรือ บริการต่างๆ จึงไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัยในประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างชาติ วัยเกษียณ ที่จะมาพำนักระยะยาว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง
“ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ” รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว EdTeX , e-Biz Expo , OEM Manufacturer Expo และงาน InterCare Asia 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยระบุว่า ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 มีมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นเข้ามาดูแลประชาชนในกลุ่มดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
“ในจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าสิบล้านคน เป็นอัลไซเมอร์ราว 7 แสนคน ซึ่งต้องใช้ผู้ดูแล 3 คนต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 1 คน หากดูศักยภาพโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลยังไม่เพียงพอต่อการดูแล สุดท้ายผู้สูงอายุก็ต้องอยู่บ้าน เพราะจำนวนเตียงไม่เพียงพอ การอยู่บ้าน จึงต้องอาศัยพี่น้อง อสม. ในการดูแล ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมมาบูรณาการให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านอย่างมีศักดิ์ศรี ดูแลตัวเองได้ หมายความว่าเราสามารถใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแท้จริง”
พัฒนาระบบดูแลไทย รับสูงวัยต่างชาติ
ทพ.อาคม กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุจากหลายประเทศมีความต้องการมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุกว่า 4 แสนคนที่ไม่ได้รับการดูแลเพราะ แคร์กิฟเวอร์ไม่เพียงพอ ดังนั้น กลุ่ม 4 แสนคน ต้องการมาเมืองไทย แต่เมืองไทยอาจจะยังไม่ปลอดภัยและไม่ง่าย หากบริหารจัดการให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย คิดว่าจะประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อน Medical Hub ได้
“หากเราทำเรื่องของ Long Term Care หรือ Long Stay ได้ ให้ผู้สูงอายุสามีภรรยาต่างชาติมาอยู่ที่ไทย 10 ล้านคู่ แน่นอนว่าลูกหลานต้องมาเยี่ยมพ่อแม่ตัวเอง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวบ้านเรามหาศาล เป็นเม็ดเงินที่ได้อย่างชัดเจน สามารถทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้สูงอายุของโลกได้”
ธุรกิจดูแลสูงวัย ปรับมาตรฐาน
เมื่อดูข้อมูล กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนการขออนุญาตสถานประกอบการ ที่ออกใบอนุญาติ
ประเภท Day Care จำนวน 3 แห่ง
ประเภท Residential Care จำนวน 13 แห่ง
ประเภท Nursing Home จำนวน 670 แห่ง
“นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ผู้อำนวยการ Chersery Home โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และในฐานะนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ เนอร์สซิ่งโฮม รวมถึง การส่งผู้ดูแลไปดูแลที่ผ่าน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตค่อนข้างมาก ดูได้จากการจดทะเบียนบริษัทใหม่ และการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จาก 200 กว่าแห่งในปี 2562 เป็น 500 แห่ง ในช่วงระยะเวลา 2 ปี
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการควบคุมมาตรฐาน โดยมีการแนะนำให้เนอร์สซิ่งโฮมรายเล็กจดทะเบียนบริษัท และขอใบอนุญาตกับทางกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 600 แห่ง และศูนย์เล็กๆ ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนคาดว่าจะมีประมาณ 2,000 แห่ง แต่ในอนาคตจะต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด
สำหรับมาตรฐานขั้นต้นสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข มีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัย อาคารสถานที่ และการให้บริการ “นพ.เก่งพงศ์” อธิบายว่า ด้านความปลอดภัย คือ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงทางลาดชัน สัญญาณขอความช่วยเหลือ ฯลฯ ด้านอาคารสถานที่ ต้องมีระบบป้องกันการติดเชื้อ ไม่แออัด มีพื้นที่ระหว่างเตียง 90 ซม. ระบบระบายอากาศ ห้องน้ำ ประตูกว้าง 90 ซม. ฯลฯ และด้านการให้บริการ ต้องมีผู้ดูแลเหมาะสมไม่น้อยจนเกินไป ตามเกณฑ์ คือ คนไข้ 5 คน มีผู้ดูแล 1 คนขั้นต่ำ และมีระบบบริการฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
"ในสังคมเมือง แม้ลูกหลานต้องการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน แต่อาจจะติดขัดในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลา ดังนั้น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ จะเป็นทางเลือกสำหรับคนไข้และครอบครัว"
Medical Hub ยกระดับท่องเที่ยวไทย
นพ.เก่งพงศ์ กล่าวต่อไปว่า กฎเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขออกมานับเป็นจุดเริ่มต้น และในอนาคตหากประเทศไทยอยากจะเป็น Medical Hub หรือ ผู้นำด้านการดูแลผู้สูงอายุ อาจจะต้องยกระดับมาตรฐานมากขึ้น เช่น ประเมินความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ทั้งด้านร่างกายจิตใจ ที่เป็นองค์รวมมากขึ้น
และจัดการบริการที่มีความหลากหลาย เช่น การกายภาพบำบัด การจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้สูงวัยระหว่างการพักฟื้น รวมถึงการอบรมบุคลากร ยกระดับมาตรฐานให้มีคุณวุฒิที่สูงขึ้น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีความต้องการพิเศษ เช่น กลุ่มติดเตียง อัลไซเมอร์ สมองเสื่อม มะเร็ง เป็นต้น
"เป้าหมายของไทยที่จะยกระดับสู่ Medical Hub ซึ่งนับเป็นการท่องเที่ยวเชิงมูลค่า การพำนักระยะยาว Wellness ซึ่งเป็นการบริการสุขภาพมีมูลค่าสูง สามารถดึงเม็ดเงินให้อยู่ในไทยได้นาน เพราะการพักฟื้นหรือใช้บริการ Wellness ต้องอยู่หลายเดือน ขณะเดียวกัน บริการด้านการแพทย์ของไทยมีชื่อเสียง ทั้งด้าน Service mild ราคาเป็นมิตร และมีความหลากหลายด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอาหาร ท่องเที่ยว จุดเด่นเหล่านี้ จะช่วยผลักดันการท่องเที่ยวเชิงคุณค่า ให้เป็นที่น่าสนใจของชาวต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าสูง และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวสมัยใหม่ของไทย"