ในปี 2578 ประเทศไทยจะเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ มากขึ้น โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 30% นับเป็นทั้งปัญหา ความท้าทาย และโอกาสของไทยในการสร้างระบบบริการรองรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การดูแลที่บ้าน เนอร์สซิงโฮม โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บุคลากรที่ชำนาญการในการดูแลคนไข้ที่มีความซับซ้อน รวมถึงรองรับผู้สูงอายุต่างชาติที่มีเป้าหมายในการมาอยู่อาศัยที่ไทยระยะยาว
ในต่างประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมานานอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ปัจจุบันพบว่า เริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จากตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับอัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง แรงงานลดลง หลายประเทศที่มีโมเดลที่เคยสำเร็จมาก่อน ตอนนี้เริ่มมีปัญหา
นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home International และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เค.พี.เอ็น.ซีเนียร์ ฮอสปิตัล จำกัด ในฐานะ CEO & Founder Chersery Home International โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย (SHSTA) ผู้มีแรงบันดาลใจจากการดูแลอาม่าของหมอเองอายุย่าง 105 ปี ให้สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ประเทศไทยมีความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตัวเลขผู้สูงอายุที่เยอะขึ้นในอัตราเร่งที่แซงประเทศสิงคโปร์ และในปี 2578 ที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น หากไม่เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้จะมีปัญหาเรื่องการดูแลทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการเมือง
"อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีข้อดีทั้งระบบสาธารณสุข การรองรับ ผู้สูงอายุ อย่างสิทธิบัตรทองที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ยกตัวอย่าง ช่วงโควิด-19 ถือว่าดูแลเคสผู้สูงอายุได้ดี และไทยมีบทเรียนจากต่างประเทศไม่ว่าการดูแลสูงอายุที่บ้าน ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งต้องชูจุดแข็งตรงนี้มาเป็นจุดเด่นของไทยในอนาคต" นพ.เก่งพงศ์ กล่าว
ยกระดับเนอร์สซิงโฮม
ทั้งนี้ ในฐานะนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย ซึ่งดูแลเนอร์สซิงโฮมทั่วประเทศกว่า 450 แห่ง ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC)
ในปี 2564 กรม สบส. ได้กำหนดมาตรฐาน 3 ด้าน สำหรับสถานดูแลผุ้สูงอายุ ได้แก่ ความปลอดภัย อาคารสถานที่ และการให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐาน รองรับผู้สูงอายุราว 20% ที่ต้องการการดูแลในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ธรรมดา ศูนย์ที่มีกายภาพบำบัด หรือโรงพยาบาลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแล รักษาบำบัด และฟื้นฟูผู้สูงอายุ ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อเสริมความเข็มแข็งภาคเอกชน
"สำหรับทางสมาคมฯ ได้พยายามส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนางานบริการได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านการแพทย์ ด้านข้อมูล และการหาวัสดุการแพทย์ที่ราคาเหมาะสม เช่น ผ้าอ้อม เครื่องใช้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ สุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มารับบริการ"
พัฒนาระบบ Homecare
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยซึ่งมี ผู้สูงอายุ ราว 14 ล้านคน ต้องการดูแลซับซ้อนราว 10% หรือราว 1 ล้านกว่าคน อยู่ในเมืองใหญ่กว่าครึ่ง และเฉลี่ยราว 5 แสนคน ต้องการการดูแลใกล้ชิด โดยเซกเมนต์ใหญ่คือ Homecare หาผู้ดูแลมาอยู่ที่บ้าน ปัญหาตอนนี้คือ มักจะมีผู้ดูแลที่ไม่ได้จบหลักสูตร ขณะที่การแพทย์ปัจจุบันมีความซับซ้อน เช่น คนไข้ผ่าตัดสวนหัวใจ ผ่าตัดกระดูก สมองเสื่อม มะเร็งระยะท้าย หากไม่ได้รับการดูแลจากผู้ที่มีความชำนาญการเฉพาะทาง อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต
โดยกลุ่มที่ต้องการการดูแลซับซ้อน มีทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มหลังผ่าตัด 2. สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ 3. สโตรก เส้นเลือดในสมองตีบ แตก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และ 4. กลุ่มระยะประคับประคอง เช่น ผู้ป่วยระยะท้าย ต้องการกลับไปอยู่ที่บ้าน ดังนั้น ผู้ดูแลที่ได้รับการอบรมที่มีคุณภาพจะเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถดูแลกลุ่มที่มีความซับซ้อนได้
"นอกจากการยกระดับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแล้ว การพัฒนา Caregiver จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหน้าที่ดูแลกฎเกณฑ์ หลักการ การคัดเลือก การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ประวัติการทำงานให้ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะที่ทางสมาคมฯ พยายามผลักดันกรอบการทำงานโดยเทียบเคียงจากมาตรฐานในต่างประเทศ และปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทย เชื่อมโยงระบบบัตรทอง 30 บาท และระบบ อสม. โดยที่คนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป"
ทั้งนี้ หลังจากประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา มีการเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้เริ่มเห็นโอกาส ทั้งด้านการท่องเที่ยว การพำนักระยะยาว รวมถึง Wellness ซึ่งไทยถูกจัดอันดับ Top 10 ของโลก
นพ.เก่งพงศ์ มองว่า หากมีการยกระดับการดูแลผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐาน เสริมทักษะผู้ดูแลคนไทย จะช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยว ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงที่พำนักระยะยาว 3-6 เดือน ให้เข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น และสร้างมูลค่าให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การท่องเที่ยว Wellness Healthcare สร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง (Caregiver)
Chersery Home ดูแลครบวงจร
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา Chersery Home ภายใต้การบริหารของ นพ.เก่งพงศ์ ซึ่งมุ่งสู่เป้าหมาย 100-Year happy living solution for senior ด้วย Motto ที่ว่า บอก "รัก" ผู้สูงวัย…เชื่อใจให้เราดูแล ทำให้ Chersery Home เติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีแรกที่มีเพียง 10 เตียง จนปัจจุบันขยายไปแล้วกว่า 200 เตียง ได้แก่ โรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery Home สาขาจรัญฯ 13, The Senizens สาขาราชพฤกษ์บางแวก และสาขาบางบอน มีอัตราเข้าพัก 80% โดยเป็นชาวต่างชาติ 15% ดูแลดูแลคนไข้ทั้ง 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มหลังผ่าตัด 2. สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ 3. สโตรก และ 4. กลุ่มระยะประคับประคอง ครบวงจรทั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Nursing home, Homecare, Service, Food innovation และ Healthcare data management platform
"หลังจากนี้จะมีการขยายไปถึงการดูแลกลุ่มประคับประคองระยะท้ายมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการรักษาทำให้ผู้ป่วยอายุยืนยาว สิ่งที่ตามมาคือ ทักษะการดูแลที่ต้องสูงขึ้นด้วย เช่น ยาเคมีบางตัวกระทบเรื่องภูมิคุ้มกัน ดังนั้น อาหาร ออกกำลังกาย จะเป็นอย่างไร เริ่มมีความซับซ้อนในการดูแล ผู้ดูแลต้องเข้าใจตัวโรค เข้าใจแผนการรักษาของแพทย์ ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนไข้แข็งแรง และไม่สบาย คนไข้ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี" นพ.เก่งพงศ์ กล่าว
3 ปี ขยาย 10 สาขา ปักหมุด กทม. ต่างจังหวัด
ที่ผ่านมา Chersery Home ได้เปิดบริการใหม่ อย่าง "Harmoni Homecare" บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่แค่หา Caregiver พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ไปดูแลที่บ้านเท่านั้น แต่ยังมีนักกายภาพไปทำกายภาพที่บ้าน ประเมินประวัติการรักษา ยาประจำตัว โดยที่ญาติไม่ต้องพาคนไข้มาที่โรงพยาบาล อีกทั้งมีระบบ Telemedicine แพทย์ให้คำปรึกษาระยะไกล กิจกรรมสันทนาการโดยสหวิชาชีพ และเครือข่ายฟื้นฟูสุขภาพ จาก Chersery Home ปัจจุบัน เปิดให้บริการ 5 เดือน Caregiver ในระบบ 120 คน ผู้รับบริการราว 100 ครอบครัว ตั้งเป้า 1,000 ครอบครัวในระยะเวลา 3 ปี
พร้อมกันนี้ยังจับมือกับประกันสุขภาพอย่าง เมืองไทยประกันชีวิต และ เจนเนอราลี่ จับกลุ่มคนไข้ที่ต้องการการพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยคนไข้จะได้อยู่ในพื้นที่สีเขียว บรรยากาศเหมาะสม การติดเชื้อน้อยลง ญาติเยี่ยมได้มากขึ้น มีการกายภาพ มีประกันดูแล มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ สังคมผู้สูงอายุ ในระยะยาว
สำหรับใน 3 ปีต่อจากนี้ (ปี 2566 - 2568) นพ.เก่งพงศ์ เผยว่า ตั้งเป้าขยายสาขาเพื่อรองรับโอกาสสังคมร้อยปีของไทย 10 สาขาพร้อมทั้งพัฒนา Franchise Model "บ้านธรรมชาติ" ในกรุงเทพและต่างจังหวัดในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น Chersery Home จะไม่หยุดที่การเป็น Operator ที่ชำนาญงาน โรงพยาบาลผู้สูงอายุ แต่จะขยายไปยังโรงพยาบาลประเภทอื่นๆ และธุรกิจอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาลกายภาพบำบัด โรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองและระยะท้าย ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านสมองเสื่อม Stroke Rehabiliation Center รวมถึง Daycare Center ที่จะกระจายครอบคลุมทุกมุมเมือง โดยทุกศูนย์ฯ สามารถรับผู้สูงวัยและคนไข้ได้ทั้ง 4 กลุ่ม และอาจมีจุดเด่นเฉพาะที่แตกต่างกันของแต่ละศูนย์ด้วย
ขณะเดียวกัน การพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องใช้ระยะเวลา Chersery Home มีแผนพัฒนาเรื่องบุคลากรที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเกือบ 10 แห่งทั้งระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนบริบาล พร้อมที่ฝึกงานในศูนย์ของเครือกว่า 8 สาขาทั่ว กทม. เมื่อเรียนทฤษฎีเสร็จ สามารถมาฝึกที่ Chersery Home ก่อนจบการศึกษา และเข้าทำงานดูแลที่ศูนย์หรือดูแลที่บ้าน มีระบบติดตามเยี่ยมบ้าน ญาติอุ่นใจ มีสัญญาจ้างที่ดี มีขอบเขตงาน ให้ค่าจ้างตรงเวลา มีระบบการจัดการมาตรฐานสากล AACI Standard for Homecare
นอกจากนี้ ยังรุกตลาดอาหารเพื่อสูงวัยอย่าง "อามาม่าพุดดิ้ง" ซึ่งมีการทดลองมากว่า 3 ปี ตอบโจทย์คนไข้ที่อยู่โรงพยาบาลที่อาจจะเบื่อผลไม้แต่อยากทานอะไรหวานๆ เหมาะกับคนที่ฟันไม่ดี ใช้เหงือกเคี้ยว ขณะนี้มีทั้งหมด 5 รสชาติ ได้แก่ ชาเขียว ชาไทย ช็อกโกแลต งาดำ และสตรอว์เบอร์รี รวมไปถึงอาหารประเภท Prebiotics / Probiotics โดยมีความร่วมมือทางด้านงานวิจัยกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในอนาคตจะมีการพัฒนา "แพลตฟอร์ม Smart Tech" ดูแลที่บ้าน การเก็บข้อมูลสุขภาพระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น อาหาร น้ำหนักตัว และกล้ามเนื้อ เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามคนไข้ได้อย่างต่อเนื่อง